วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ดอยอินทนน์

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์







อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอสันป่าตอง อำเภอจอมทองและอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบไปด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย สภาพป่าเป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำหลายสาย และเป็นส่วนหนึ่งของต้นน้ำปิงที่ให้พลังงานไฟฟ้าที่เขื่อนภูมิพล มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกต่างๆ โดยเฉพาะน้ำตกแม่ยะ ที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดของประเทศ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มีเนื้อที่ประมาณ 482 ตารางกิโลเมตร หรือ 301,500 ไร่



การเดินทาง :



ทางรถยนต์

จากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปตามถนนสายเชียงใหม่ - ฮอด ประมาณ หลักกิโลเมตรที่ 58 ก่อนถึงตลาด อำเภอจอมทอง มีถนนแยกไปทางขวา คือ ถนนสายจอมทอง - ดอยอินทนนท์ ซึ่งมีระยะทาง ถึงยอดดอยประมาณ 48 กิโลเมตร ซึ่งที่ทำการเขตจะอยู่ บริเวณหลัก กม. ที่ 31



เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ :

1. เส้นทางสายอ่างกา

เป้นเส้นทางที่มีความสำคัญมีเอกลักษณ์เฉพาะ ระยะทาง 360 เมตร ใช้เวลาเดินศึกษา ธรรมชาติประมาณ 15 - 20 นาที เป็นลักษณะของป่าดิบเขาระดับสูง มีพรรณไม้เขตอบอุ่น ผสมกับเขตร้อน ที่พบเฉพาะในระดับสูง เป็นแบบป่าโบราณ มีพืชที่อาศัยเกาะติดต้นไม้มากมาย ตามพื้น จะพบพวกข้าวตอกฤๅษีเป็นบริเวณกว้าง ในหน้าหนาวจะพบกุหลาบพันปี สีแดงสวย และได้ยินเสียงนกร้อง อยู่เป็นระยะๆ มีความชุ่มชื้น และเป็นต้นกำเนิด ของสายน้ำแม่ปิง มีความหลากหลาย ทางชีวภาพและ อุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก



2. เส้นทางสายยอดดอย - น้ำตกสิริภูมิ

เป็นทางเดินระยะไกลประมาณ 8 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 5 ชม. เหมาะสำหรับศึกษา เรื่องความแตกต่างของพันธุ์ไม้ ในระดับความสูงที่แตกต่างกัน ความหลากหลายของสังคมพืช การทดแทนของพันธุ์ไม้ ที่ถูกทำลาย การฟื้นฟูสภาพป่า การส่งเสริมอาชีพชาวเขา และทิวทัศน์ของหุบเขาด้านล่าง



3. เส้นทางสายกิ่วแม่ปาน

เป็นทางเดินป่าระยะสั้น ประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 2 ชม. เหมาะสำหรับเรื่องการศึกษาป่าดิบเขา ในระดับต่ำลงมา สังคมทุ่งหญ้าที่เกิดขึ้นภายหลัง การทำลายสภาพป่าเดิม ลักษณะพืชเด่น ตามเส้นทางเดิน ทิวทัศน์ของ หน้าผาที่สวยงาม ตลอดจน ลักษณะการเกิดผลกระทบ ต่อเนื่องบริเวณรอยต่อ ระหว่างบริเวณรอยต่อ ระหว่างพื้นที่ป่าสมบูรณ์ กับพื้นที่ที่ถูกทำลาย หรือที่เรียกว่า EDGE EFFECT



4. เส้นทางสายน้ำตกแม่ปาน

เป็นทางระยะสั้นประมาณ 2 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 2 ชม. เหมาะสำหรับการศึกษาสภาพป่า ข้างลำธาร ความสำคัญของต้นน้ำ ชมน้ำตกตลอดการทาง



5. เส้นทางสายถ้ำบริจินดา

เป็นทางระยะสั้นใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชม. เหมาะสำหรับการศึกษาในเรื่องกำเนิดถ้ำ สิ่งมีชีวิตในถ้ำ การเกิดหินงอกหินย้อย



6. เส้นทางสายสบหาด - บ้านแม่กลาง

ระยะทางประมาณ 900 เมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชม. เหมาะกับการศึกษาในเรื่องของ สังคมป่าเต็งรังผสมสน และชมน้ำตกตาดน้อย



7. เส้นทางสายผาแว่น - น้ำตกวชิรธาร

ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชม. เหมาะกับการศึกษาในเรื่องของ สังคมป่าผสมผลัดใบ ความร่มรื่น ชมทิวทัศน์ของน้ำตกแม่กลาง น้ำตกวชิรธาร และการทำเกษตรของชาวเขา



8. เส้นทางสาย กม.ที่ 38 - น้ำตกสิริภูมิ

เป็นเส้นทางเดินป่าระยะไกล ประมาณ 5.5 กิโลเมตร. ใช้เวลาเดินประมาณ 3 ชม. เหมาะสำหรับการดูนก ที่อาศัยอยู่ในป่าดิบเขาระดับ 1500 เมตร



. เส้นทางสายปางสมเด็จ - ผาหมอน

เป็นระยะทางไกลประมาณ 6 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 3 ชม. เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบการเดินป่า โดยเฉพาะ และต้องการศึกษาเส้นทาง สมัยที่ยังไม่มีถนน ตัดขึ้นดอยอินทนนท์



ลักษณะภูมิประเทศ :

สภาพภูมิประเทศทั่วไปประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน มีดอยอินทนนท์เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด สูงจาก ระดับน้ำทะเล 2,565 เมตร ยอดเขาที่มีระดับสูงรองลงมาคือ ดอยหัวมดหลวง สูงจากระดับน้ำทะเล 2,330 เมตร ป่าอินทนนท์นี้เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำแม่กลาง แม่ป่าก่อ แม่ปอน แม่หอย แม่ยะ แม่แจ่ม แม่ขาน และเป็นส่วนหนึ่งของต้นน้ำแม่ปิงที่ให้พลังงานไฟฟ้าที่เขื่อนภูมิพล



ลักษณะภูมิอากาศ :

เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงถึง 2,565 เมตร อากาศจึงหนาวเย็นตลอดปี ความชื้นสูงมาก โดยเฉพาะบนดอย ในฤดูหนาวอุณหภูมิจะต่ำกว่าศูนย์องศงเซลเซียสทุกปี ในฤดูร้อนก็ยังมีอากาศหนาวเย็นอยู่ ต้องสวมเสื้อกันหนาว



พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า :

สภาพทั่วๆ ไปเป็นที่โล่ง สลับกับป่าไม้ เนื่องจากถูกชาวเขา เผ่าแม้ว และกระเหรี่ยง ถางป่าทำไร่ จะเห็นได้จากบริเวณสองข้างทาง ขึ้นยอดดอยอินทนนท์ เป็นภูเขาหัวโล้น เกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นทิวทัศน์ ที่แตกต่างจากอุทยานฯ อื่นๆ ป่าไม้ในเขตอุทยานฯ มีหลายชนิด ได้แก่ ป่าดงดิบ ป่าสน ป่าเต็งรัง หรือป่าเบญจพรรณ มีพันธุ์ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจดังนี้คือ สัก ตะเคียน สนเขา เต็ง เหียง มะเกลือ แดง ประดู่ รกฟ้า มะค่า เก็ตแดง จำปีป่า ตะแบก เป็นต้น



นอกจากนี้ ยังมีดอกไม้ป่าที่สวยงามหลายชนิด เช่น ฟ้ามุ่ย ช้างแดง รองเท้านารี และกุหลาบป่า สำหรับ มอส ข้าวตอกฤๅษี ออสมันด้า มีอยู่ทั่วไปในระดับสูง



สัตว์ป่า ในบริเวณอุทยานฯ มีจำนวนลดลงไปมาก เนื่องจากถูกชาวเขาเผ่าต่างๆ ล่าเป็นอาหาร และป่าซึ่งเป็น ที่อยู่อาศัยถูกถางลงมากมาย ทำให้สัตว์ใหญ่บางชนิดหมดไปจากป่านี้ ปัจจุบันมีสัตว์ที่หลงเหลืออยู่บ้าง ได้แก่ เลียงผา กวาง เสือ หมูป่า หมี ชะนี ชะมด กะต่ายป่า และไก่ป่า



จุดเด่นที่น่าสนใจ :

ปัจจุบันทางทหารได้ตัดถนนขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์ จึงสามารถเดินทางโดยรถยนต์ได้สะดวก สำหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติอย่างแท้จริง ก็อาจเลือกวิธีเดินเท้า ที่นิยมมักเริ่มต้นจากน้ำตกแม่กลาง คืนแรกพักที่หมู่บ้านกะเหรี่ยงแม่แอบ คืนที่สองพักที่หมู่บ้านกะเหรี่ยงผาหม่อน คืนที่สามพักที่ปางสมเด็จ แล้วขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์ ในระหว่างทางจะได้รับความเพลิดเพลินกับบรรยากาศป่าเขา และได้ศึกษา ความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยงไปด้วย



ยอดดอยอินทนนท์

ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของประเทศ ซึ่งคนไทยส่วนมากต้องการไปสัมผัสเพื่อเป็นประวัติของชีวิต อากาศบนยอดดอยหนาวเย็น ยามฤดูหนาวอากาศหนาวจัด มีเมฆหมอกครึ้ม บรรยากาศดังกล่าวหาได้ยาก ในประเทศไทย ต้นไม้ในบริเวณยอดดอยแตกต่างจากที่อื่นเพราะมีสภาพเป็นป่าโบราณ ตามต้นไม้มีเฟิร์น หลายชนิดและมอสจับเขียวครึ้ม พันธุ์ไม้ดอกเช่น กุหลาบป่า คล้ายกับภูกระดึง แต่สูงใหญ่กว่ามาก จนเรียกกันว่า "กุหลาบพันปี" นอกจากนี้ ยังมี ลานข้าวตอกฤๅษี ซึ่งเป็นมอสชนิดหนึ่ง ขึ้นอยู่หนาแน่นมีสีเขียว สลับสีน้ำตาลอ่อนๆ มอสชนิดนี้จะขึ้นได้เฉพาะที่สูง ความชื้นมาก และอากาศหนาวเย็นเท่านั้น และเป็นที่ประดิษฐาน สถูปบรรจุอัฐิเจ้าอินทวิชยานนท์ อดีตเจ้าเมืองเชียงใหม่



โครงการหลวงดอยอินทนนท์

ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 31 แยกขวาเข้าไปอีก 1 กิโลเมตร ผลิตผลหลักคือไม้ดอกเมืองหนาว นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมแปลงดอกไม้และการเพาะขยายพันธุ์



พระมหาธาตุนภเมทนีดล และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ

ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 41.5 ด้านซ้ายมือสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในปี พ.ศ. 2530 และ พ.ศ. 2535


วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม[1] กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่ง รวยทรัพย์แต่อาภัพบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีจนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานอยู่กว่าสามปี ก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตร อยู่มาวันหนึ่งพอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ พอถึงก็ได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐี จึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรองค์หนึ่งนาม "ธรรมบาล" ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าก็คลอดออกมา เศรษฐีตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า ธรรมบาลกุมาร และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย
ต่อมาเมื่อธรรมบาลกุมารโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ซึ่งภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ เขาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารว่า ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน ทันใดนั้นธรรมบาลกุมารจึงขอผัดผ่อนกับท้าวกบิลพรหมเป็นเวลา 7 วัน
ทางธรรมบาลกุมารก็พยายามคิดค้นหาคำตอบ ล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล เขาคิดว่า ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม บังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ นางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด สามีตอบนางนกว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย ด้วยแก้ปัญหาไม่ได้ นางนกจึงถามว่า คำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้า ศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยง ศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น ศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน ธรรมบาลกุมารก็ได้ทราบเรื่องที่นกอินทรีคุยกันตลอด จึงจดจำไว้